top of page

ประวัติ

ความเป็นมา

           ด้วยพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยาราม ขณะทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ว่า“ ความสำคัญของการศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้จะต้องอนุวัติให้ทันกับความเจริญของโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” พระองค์จึงทรงมีพระประสงค์ที่จะขยายการศึกษาของคณะสงฆ์ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2513 -2514 ได้ทรงจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ร่างหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้เป็นหลักสูตรหนึ่งในปี พ.ศ. 2514 สมัย ฯพณฯ สุกิจนิมมานเหมินทร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อกระทรวง ฯ ประกาศใช้หลักสูตรแล้ว พระองค์ได้ทรงเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แห่งแรกขึ้นชื่อว่าโรงเรียนวชิรมกุฏ ที่บริเวณหลัง วัดมกุฏกษัตริยารามกรุงเทพมหานคร เป็นสาขาแห่งหนึ่งของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยโดยใช้หลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

           เมื่อวันที่1ตุลาคมพ.ศ. 2514ในปีเดียวกันนี้ นายฉบับ คุณนายสงวน ชูจิตารมย์ ได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดิน จำนวน 186 ไร่ ที่ตำบล สนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ต่อมาได้มีผู้บริจาคซื้อถวายเพิ่มเติมเป็น 736 ไร่) ให้เป็นที่ตั้งสถานศึกษาของคณะสงฆ์ขยายการศึกษาออกไปสู่ชนบท เปิดทำการสอนพระภิกษุสามเณรขึ้น ได้ทรงวางวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบัน
สงฆ์แห่งนี้ไว้ 6 ประการ คือ :-

                  1. เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์
                  2. เพื่อเป็นสถานที่พักอาศัยเล่าเรียนของพระภิกษุ – สามเณร
                  3. เพื่อเป็นสถานที่พักอาศัยเล่าเรียนวิชาการทางพระพุทธศาสนาของชาวต่างประเทศ
                  4. เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการชั้นสูงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
                  5. เพื่อเป็นสถานที่อบรมในด้านการปฏิบัติธรรม
                  6. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาฝึกอบรมพระภิกษุผู้จะปฏิบัติศาสนกิจในระดับสูง เช่น งานด้านการปกครอง การเผยแผ่ การสาธารณูปการ เป็นต้น

           ขณะที่ทรงเตรียมการจะดำเนินงานภายหลังชาวบ้านเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแล้ว แต่พระดำริดังกล่าวยังมิ ทันสัมฤทธิ์ผลพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514ต่อมาปี พ.ศ. 2516 พระเถรานุเถระผู้มีบทบาทในการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์หลายรูปเช่น
                 1. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ วัดบวรนิเวศวิหาร
                 2. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
                 3. สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกโร) วัดเทพศิรินทราวาส
                 4. พระธรรมวราจารย์ (แบน กิตฺติสาโร) วัดบวรนิเวศวิหาร
                 5. พระธรรมปาโมกข์ (สุวรรณ กญฺจโน) วัดมกุฏกษัตริยาราม
                 6. พระเทพเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) วัดธรรมมงคล

                  7. พระเทพปัญญากวี (บรรจง กลฺลิโต) วัดมกุฏกษัตริยาราม
ได้ร่วมกันก่อตั้งสถาบันสงฆ์แห่งนี้ขึ้น เริ่มแรกใช้ชื่อว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สาขาวังน้อย เป็นที่รู้จักกันของประชาชนโดยทั่วไปว่า “ วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย ”ในปี พ.ศ. 2519ได้ขอตั้งเป็นวัดชื่อ “วัดชูจิตธรรมาราม” เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุล ชูจิตารมย์ ผู้ถวายที่ดินเพื่อการก่อตั้งครั้งแรก (ปี พ.ศ. 2521 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา)ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2520 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระนามาภิไธยในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร ว่า “มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย” และทรงพระราชทานพระนามาภิไธยย่อว่า “ ม.ว.ก.” ภายใต้เสมาธรรมจักร พร้อมทั้งพระราชทานสุภาษิตว่า “วชิรูปมจิตฺโต สิยา” (พึงเป็นผู้มีจิตแกร่งประดุจเพชร) ให้เป็นตราประจำสถาบัน

bottom of page